สงสัยไหม? ทำไมเราถึง ไม่สามารถจั๊กจี้ให้ตัวเองขำได้
เคยสงสัยไหม? ทำไมเวลาเราโดยจั๊กจี้แล้วเราถึงหัวเราะทั้งๆ ที่เราไม่ได้รู้สึกขำอะไรเลย แล้วทำไมในขณะที่คนอื่นจั๊กจี้เราได้ แต่เรากลับไม่สามารถจะจั๊กจี้ตัวเราเองได้ ซึ่งการจะตอบคำถามเหล่านี้ เราต้องเข้าใจก่อนว่าอะไรคือการจั๊กจี้ หรือให้ตรงกว่านั้น อะไรคือความรู้สึกจั๊กจี้
ในทางวิวัฒนาการ ความรู้สึกจั๊กจี้คือ รูปแบบของสัญญาณประสาทที่เกิดจากการ ‘โดนสัมผัสแบบไม่คาดคิด’ ซึ่งสัญญาณแบบนี้ทางวิวัฒนาการจะเป็นการเตือนให้เรารู้ว่า ‘ภัยกำลังจะมา’ และร่างกายเราก็จะมีปฏิกิริยาตอบโต้อัตโนมัติ กล่าวคือการถูกจั๊กจี้แล้วหัวเราะ มันคือการที่ร่างกายปฏิบัติไปตามสัญชาตญาณของการตอบโต้ภัยที่เข้ามานั่นเอง
คำถามต่อมาก็คือ ทำไมมีภัยแล้วต้องหัวเราะล่ะ คำตอบก็อาจแปลกสักหน่อย แต่การศึกษาในลิงพบว่า การหัวเราะคือกลไกของการยอมแพ้ในการต่อสู้ หรือให้ตรงกว่านั้นก็คือ เวลาลิงเผชิญหน้ากันแล้วตัวหนึ่งหัวเราะ ความหมายคือตัวนั้น ‘ยอมแล้ว’ ไม่ขอสู้กับอีกตัว และนี่เป็นกลไกที่อยู่ในระดับสัญชาตญาณ
โดยสิ่งที่น่าสนใจคือ สมองส่วนเดียวกันเป๊ะเลย ที่ทำงานเวลาเรารับฟังมุกตลก เราโดนจั๊กจี้ และทั้งคู่ล้วนเชื่อมโยงกับการหัวเราะ หากอ่านมาถึงตรงนี้อาจงงว่า ทำไมการจั๊กจี้มันซับซ้อนแบบนี้ ทั้งเกี่ยวกับการโดนสัมผัสแบบไม่คาดคิด ทั้งการป้องกันภัย และการหัวเราะ
ถ้าจะสรุปง่ายๆ นั่นก็คือ มนุษย์มีสัญชาตญาณว่า เราจะหัวเราะกับสิ่งที่ไม่คาดฝัน และนี่คือเหตุผลที่มุกตลกมันไม่สามารถเล่นซ้ำได้ คือเล่นอีกรอบก็ไม่ขำแล้ว และที่เราขำตอนได้ยินรอบแรก ก็เพราะเราไม่รู้ การจั๊กจี้ก็เช่นกัน มันคือการเล่นกับความไม่คาดฝัน ให้เราหัวเราะไม่ต่างจากการเล่นมุก
แต่ความต่างก็คือ มันเป็นการเล่นกับร่างกายในส่วนผิวหนัง ไม่ได้เล่นกับ ‘สมอง’ โดยตรงแบบมุกตลก สิ่งที่มีร่วมกันคือการเล่นกับการไม่คาดฝัน และด้วยกลไกทางชีววิทยา ในอดีตความไม่คาดฝันมันคืออันตรายทั้งนั้น และความรู้สึกถึง ‘ความไม่คาดฝัน’ ก็ไม่ใช่เรื่องดีๆ มันคือภัย และบรรพบุรุษก็รับมือสถานการณ์แบบนี้ด้วยการหัวเราะ และทั้งหมดนี้เองคือคำอธิบายว่าทำไมเวลาเราโดนจั๊กจี้เราถึงหัวเราะ
ต่อมาทำไมเราถึงจั๊กจี้ตัวเองไม่ได้? คำตอบไม่ยากนัก จากที่อธิบายมาเหตุผลที่เราจั๊กจี้ตัวเองไม่ได้ เพราะเรา ‘คาดการณ์’ การสัมผัสของตัวเองไว้แล้ว โดยเป็นการสัมผัสแบบเดียวกันเป๊ะ ที่คนอื่นทำเราจะจั๊กจี้จนหัวเราะ แต่ถ้าเราจั๊กจี้ตัวเองแล้วไม่รู้สึกจั๊กจี้ เพราะเราคาดเดาได้หมด โดยเรื่องนี้เขามีการทดลองด้วย ผ่านการให้คนควบคุมหุ่นยนต์ให้จั๊กจี้ตัวเอง ขณะที่เงื่อนไขก็คือ หลังจากป้อนคำสั่งหุ่นยนต์จั๊กจี้มันจะมีการดีเลย์ แต่เราไม่รู้ว่าดีเลย์นานแค่ไหน
ขณะที่ผลวิจัยชัดเจนมาก คือถ้าหุ่นยนต์ไม่ดีเลย์เลย คนจะไม่รู้สึกจั๊กจี้ แต่ยิ่งดีเลย์นานๆ คนจะยิ่งรู้สึกจั๊กจี้ ดังนั้นมันจึงกลับมาที่คำอธิบายเดิม จะจั๊กจี้หรือไม่ มันอยู่ที่ว่าเราคาดหวัง ‘สัมผัส’ ที่จะเกิดหรือไม่ จากคนอื่นเราคาดเดาไม่ได้อยู่แล้ว และในกรณีนี้ ถึงจะเป็นสัมผัสจากตัวเอง แต่เราคาดเดาเวลาของมันไม่ได้ ผลก็เกิดในทำนองเดียวกันคือเรารู้สึกจั๊กจี้
อ้างอิง
Curious Kids: why can’t we tickle ourselves?. https://bit.ly/2Uxmv2G There’s a Scientific Reason For Why You Can’t Tickle Yourself. https://bit.ly/39vQts7
ข่าวที่เกี่ยวข้อง