จาก ‘นมวัวแดง’ สู่เวทีนางงาม ย้อนเส้นทางนมไทย-เดนมาร์ค
ทำเอาแฟนนางงามไทยอารมณ์บูดกันทั้งประเทศ หลังจากสิ้นสุดการแข่งขันเวที Miss Universe 2024 เมื่อวานนี้ (วันที่ 19 พฤศจิกายน 2567) ที่คนไทยตั้งตารอลุ้นและส่งใจเชียร์ ‘โอปอล-สุชาตา ช่วงศรี’ สาวงามตัวแทนจากประเทศไทยให้คว้ามง 3 ที่ไทยห่างหายไปนานกลับมาครอบครอง
แม้แฟนนางงามต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ครั้งนี้โอปอลทำได้ดีไม่มีที่ติ แต่ก็ต้องผิดหวังไปตามๆ กัน เมื่อ ‘วิกตอเรีย เคียร์ เธลวิก’ (Victoria Klaer Theilvig) สาวงามจากประเทศเดนมาร์ก คว้ามงกุฎ Miss Universe 2024 ไปครอง และยังถือเป็นมงกุฎแรกของประเทศเดนมาร์กอีกด้วย
และเมื่อพูดถึงประเทศเดนมาร์กแล้ว ภาพจำของคนไทยหลายคนคงหนีไม่พ้น ‘นมวัวแดง’ ยี่ห้อคุ้นตาอย่าง ‘นมไทย-เดนมาร์ค’ ที่เด็กไทย (เกือบ) ทุกคนต้องเคยดื่มกันอย่างแน่นอน!
จุดกำเนิดของฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์คนั้นเริ่มมาจากพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรกิจการฟาร์มโคนมและการแปรรูปผลิตภัณฑ์นมของรัฐบาลเดนมาร์ก เมื่อปี พ.ศ. 2503
ด้วยทรงสนพระทัยในเรื่องกิจการฟาร์มโคนมอย่างมาก จึงมีพระราชดำริให้พัฒนากิจการโคนมในประเทศไทย ทรงเล็งเห็นว่าอาชีพการเลี้ยงโคนมจะช่วยให้ชาวไทยได้บริโภคอาหารที่มีคุณค่า ทั้งยังช่วยให้เกษตรกรไทยได้มีอาชีพที่มั่นคงและเป็นหลักแหล่ง ไม่ต้องบุกรุกทำไร่เลื่อนลอยอีกต่อไป
พระราชปณิธานดังกล่าวได้ถูกสานต่อโดย ดร.นีลส์ กุนนาร์ ซอนเดอร์กอร์ด (Niels Gunnar Sondergaard) นักปฐพีวิทยาชาวเดนมาร์ก ผู้ซึ่งได้สังเกตว่าคนไทยไม่รู้จักโคนมและดื่มนมในปริมาณน้อยมาก จึงเป็นแรงผลักดันสำคัญที่อยู่เบื้องหลังในการบุกเบิกการพัฒนาฟาร์มโคนมในประเทศไทย จนได้มีการก่อตั้งฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค และศูนย์ฝึกอบรมการเลี้ยงโคนมที่อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ซึ่งถือเป็นก้าวแรกของการทำฟาร์มเลี้ยงโคนมในประเทศไทย
หลังจากนั้นทางการเดนมาร์กได้ส่งพันธุ์โคนมมายังประเทศไทย จำนวนเกือบร้อยตัวเพื่อใช้ในการเลี้ยงและผลิตน้ำนมที่ฟาร์ม โดยสายพันธุ์วัวดังกล่าวมีลักษณะเป็นสีน้ำตาลแดงและมีขนาดใหญ่
ทว่าพันธุ์โคนมเดนมาร์กไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศและสภาพแวดล้อมที่ไทยได้ จึงได้นำโคนมท้องถิ่นมาผสมพันธุ์กับโคนมเดนมาร์ก ทำให้เกิดโคพันธุ์ใหม่ที่สามารถอยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมในไทยและผลิตนมได้ และนั่นจึงเป็นที่มาของโลโก้โคนมสีแดงสองตัวบนกล่องนมไทย-เดนมาร์คนั่นเอง
ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์คได้ถูกส่งมอบให้กับรัฐบาลไทยและเปลี่ยนชื่อเป็น ‘องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย’ หรือ อ.ส.ค. ในปี 2514 ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์คยังคงเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์นมที่ได้รับความนิยมและถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความร่วมมือระหว่างสองประเทศที่ยาวนานและเป็นรูปธรรมจวบจนถึงปัจจุบัน
แม้ว่าผลการแข่งขันบนเวทีนางงามครั้งนี้อาจทำให้แฟนๆ ชาวไทยหลายคนบูดกันอยู่ไม่น้อย แต่เชื่อว่าอารมณ์ผิดหวังเพียงชั่ววูบก็คงไม่ทำให้กองเชียร์ชาวไทยลืมน้ำใจนักกีฬา และขอแสดงความดีใจกับ Miss Universe 2024 คนใหม่จากประเทศเดนมาร์กด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่านมไทย-เดนมาร์ค ยังคงเป็น ‘นมกล่องโปรด’ ที่ใครหลายคนชื่นชอบ ถ้าดื่มตอนมันยังไม่บูดน่ะนะ
อ้างอิง
Royal Thai Embassy, Copenhagen, Denmark https://shorturl.asia/ZzJcRข่าวที่เกี่ยวข้อง