งานศึกษาพบว่า มนุษย์จะชอบบทกวีที่ AI เขียน มากกว่าผลงานกวีเอกของโลก ถ้าไม่บอกก่อนว่าใครเขียน
ทุกวันนี้ข้อถกเถียงเกี่ยวกับ Generative AI มีมากมายหลากหลาย บ้างก็ว่ามันท้าทายงานของมนุษย์ บ้างก็ว่ามันไม่สามารถเลียนแบบความสร้างสรรค์ของมนุษย์ได้
สิ่งที่จะรู้ได้ก็คือจับมนุษย์มาทำ ‘ทดสอบแบบตาบอด’ หรือทำการทดสอบให้แยกแยะและประเมินคุณค่าโดยไม่ต้องบอกก่อนว่ามนุษย์หรือ AI เป็นเจ้าของผลงาน
และก็เริ่มมีงานวิจัยแนวนี้ซึ่งออกมาน่าสนใจมากๆ เป็นงานที่ลงในวารสาร Scientific Report ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2024 โดยเป็นงานวิจัยจากอเมริกา
คำถามพื้นฐานของงานวิจัยก็อย่างที่ว่านั่นแหละ มนุษย์จะแยกแยะได้หรือไม่ว่างานหนึ่งๆ AI หรือมนุษย์คือผู้สร้าง และมนุษย์ประเมินความสร้างสรรค์ของ AI อย่างไรเมื่อเทียบกับงานของมนุษย์ โดยเขาเลือกหมวดความสร้างสรรค์ที่ AI ทำได้ดีมาพักใหญ่อย่างบทกวี
ไอเดียงานวิจัยง่ายๆ เลย คือการเลือกกวีระดับโลกตลอดประวัติศาสตร์มา 10 คน เช่น วิลเลียม เชกสเปียร์, วอลต์ วิตแมน, เอมิลี ดิกคินสัน, ลอร์ดไบรอน, ซิลเวีย พลาธ ฯลฯ เอาบทกวีมาคนละ 5 ชิ้น แล้วให้ ChatGPT เวอร์ชัน 3.5 เขียนบทกวีในสไตล์คนเหล่านี้มาเพิ่มอีกคนละ 5 ชิ้น
ผลที่ได้คือจะมีบทกวี 100 บท 50 ชิ้นจากกวีเอกของโลก และอีก 50 ชิ้นจาก AI โดยเขาจะก็สุ่มเอาบทกวีเหล่านี้ไปทดลอง 2 แบบ
แบบแรกเอาคนมาประมาณ 1,600 คน แล้วให้อ่านบทกวีแล้วถามว่าคิดว่าบทกวีนี้มนุษย์หรือ AI เขียน
แบบที่สองเอาคนมาประมาณ 700 คน เพื่อให้คะแนนบทกวีที่กำหนดในประเด็นความงาม อารมณ์ ท่วงทำนอง และความเป็นต้นฉบับ แล้วแบ่งคนเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกจะได้รับการบอกว่า AI เขียนบทกวี กลุ่มที่สองจะได้รับการบอกว่าคนเป็นผู้เขียนบทกวี ส่วนกลุ่มที่สามจะไม่ได้รับการบอกกล่าวอะไรเลย
แต่การวิจัยนี้บอกอะไรกับเราเยอะทีเดียว
การทดลองแรก มันเห็นเลยว่าคนที่เป็นมืออาชีพด้านวรรณกรรมจะมีความสามารถสูงกว่าในการแยกแยะว่าบทกวีเป็นผีมือของมนุษย์หรือ AI ในขณะที่คนทั่วไปจะแทบแยกไม่ออกเลย
แต่ที่น่าสนใจคือการทดลองที่สอง
มนุษย์กลุ่มที่ได้รับการเฉลยว่าใครเป็นผู้เขียนบทกวี ทั้งสองกลุ่มนั้นให้คะแนนบทกวีอย่างมี ‘อคติ’ ชัดเจน โดยกลุ่มที่ได้รับการบอกว่า AI เขียน จะให้คะแนนต่ำ ส่วนกลุ่มที่ได้รับการบอกว่ามนุษย์เขียน จะให้คะแนนสูง แต่ที่น่าสนใจที่สุดคือกลุ่มที่ไม่ได้รับแจ้ง หรือกลุ่มที่ทำการ ‘ทดสอบแบบตาบอด’ นั้นจะถือว่าให้คะแนนอย่างเป็นธรรมสุด ผลการวิจัยนั้นออกมาน่าสนใจมาก เพราะพวกเขาให้คะแนนบทกวีจากฝีมือ AI โดยรวมสูงกว่าบทกวีของพวกกวีเอกเสียอีก
ทำไมถึงเป็นแบบนั้น?
คำตอบเร็วๆ คือถ้า ‘ปิดชื่อคนเขียน’ ออกไป บทกวีโดย AI เป็นบทกวีที่เขียนแบบไม่เป็นนามธรรมและมีความตรงไปตรงมากว่าบทกวีของเหล่ากวีเอก ซึ่งรวมๆ มนุษย์จะมองว่านี่คือการ ‘เขียนหนังสือ’ ที่ดีกว่า
ตรงนี้จะบอกว่า AI ผลิตงานดีกว่ามนุษย์ แม้แต่ ‘ตัวท็อป’ ของแวดวงสร้างสรรค์หรือ? คำตอบอาจไม่ง่ายแบบนั้น
เพราะสุดท้าย ประเด็นหนึ่งที่มนุษย์จำนวนไม่น้อยไม่ยอมรับก็คือ ‘คุณค่าของงานสร้างสรรค์’ มันไม่ได้อยู่ที่ตัวงานเท่านั้น แต่มันอยู่ที่ ‘ผู้ผลิตงาน’ ด้วย หรือพูดง่ายๆ งานหลายๆ ชิ้นถ้าคนสร้างงานไม่ได้ ‘ชื่อดัง’ มันก็อาจไม่มีคุณค่าใดๆ เลย
หรือพูดแรงๆ ก็คือ บทกวีหรือภาพเขียนที่เป็นนามธรรมทั้งหลาย ถ้าไม่มีชื่อกวีหรือจิตรกรดังกำกับ มันก็จะเป็นเพียงงานเละเทะชิ้นหนึ่งที่คนอาจไม่ให้ราคาใดๆ เลย
ดังนั้นไปๆ มาๆ ถ้าจะพูดในภาษาการตลาด แม้แต่โลกของงานสร้างสรรค์ที่เชื่อในฝีมือจริงๆ มันมีเรื่องของแบรนดิ้งอยู่ด้วยตลอด และถ้าตัดแบรนดิ้งออกไป งานของพวกนักสร้างสรรค์ชื่อดัง ก็อาจไม่ได้ต่างจากงานของนักสร้างสรรค์โนเนมหรือกระทั่ง AI
และถ้ามันเป็นแบบนี้ คำถามที่ว่า AI จะสร้างสรรค์ได้กว่ามนุษย์หรือไม่มันเลยหลงประเด็นแต่แรกแล้ว เพราะที่จริงแม้แต่งานสร้างสรรค์เอง มนุษย์ก็ไม่เคยตัดสินความสร้างสรรค์แบบเพียวๆ มีการเหลือบไปดูว่าใครเป็นคนสร้างงานและใช้ตรงนั้นประเมินร่วมเสมอ และนี่คือความได้เปรียบที่ AI จะไม่มีวันมี เว้นแต่สักวันจะมีกลุ่มคนที่บูชา AI และมองว่างานที่ AI ทำย่อมจะดีกว่ามนุษย์เสมอ
อ้างอิง
EuroNews. Bard or bot? Study shows readers prefer AI to human poetry. https://shorter.me/bpo6bข่าวที่เกี่ยวข้อง