ฝีดาษลิงไม่กระจอก เปลี่ยนแปลงเร็วกว่าไวรัสปกติ 10 เท่า แพร่จากคนสู่คนง่ายขึ้น
ฝีดาษลิง 2022 ต่างจากฝีดาษลิงเมื่อ 4 ปีก่อน
มีการเปลี่ยนแปลงที่เร็วกว่าไวรัสปกติถึง 10 เท่า
ไวรัสฝีดาษลิง มีสารพันธุกรรมเป็น DNA ซึ่งแตกต่างจากไวรัสโรคโควิด 19 ซึ่งเป็น RNA การเปลี่ยนแปลงของ DNA เปลี่ยนยากกว่า RNA มาก ทำให้ไวรัสในกลุ่มนี้มักมีลำดับพันธุกรรมที่เปลี่ยนแปลงช้า ปกติจะพบการเปลี่ยนแปลงประมาณ 1 ตำแหน่งต่อปีเท่านั้น
แต่ผลการวิเคราะห์ลำดับพันธุกรรมของไวรัสฝีดาษลิงที่ระบาดในหลายประเทศตอนนี้พบว่า มีความแตกต่างจากไวรัสที่เคยแยกได้ตอนที่กระโดดจากสัตว์มาหาคนเมื่อ 4 ปีก่อน ในอังกฤษ สิงคโปร์ และอิสราเอล ถึง 40 ตำแหน่ง
จากเดิมที่เชื่อว่า ถ้าการเปลี่ยนแปลงเป็นไปตามธรรมชาติ เราคาดว่าน่าจะมีความแตกต่างกันเพียง 4-5 ตำแหน่งเท่านั้นในระยะเวลาที่ต่างกันดังกล่าว แสดงว่าไวรัสที่ระบาดในหลายพื้นที่ตอนนี้ มีการเปลี่ยนแปลงที่เร็วกว่าไวรัสปกติถึง 10 เท่า
ถอดรหัสไวรัส MPXV-2022 การเปลี่ยนแปลง
จากเดิม 1 ตำแหน่งต่อปี พุ่งถึง 40 ตำแหน่ง
การเปลี่ยนลักษณะแบบนี้มีสาเหตุหลักมาจาก การเปลี่ยนตัวเองของไวรัสหนีกลไกของโฮสต์ ซึ่งปกติโฮสต์จะมีเอนไซม์อยู่ชนิดหนึ่ง ที่ทำหน้าที่ไปจับลำดับเบสของไวรัสแล้วคอยเปลี่ยนเบสดังกล่าว ทำให้เกิดมิวเตชั่นในสารพันธุกรรมของไวรัส เปลี่ยนไปเยอะ ๆ จนในที่สุดไวรัสไปต่อไม่ได้ จึงสูญเสียความสามารถในการเพิ่มจำนวนของตัวเองในที่สุด
ดร.อนันต์ ระบุว่า เอนไซม์ดังกล่าว (ชื่อว่า APOBEC) ในแต่ละสปีชีส์ของโฮสต์จะจับลำดับเบสที่ต่างกันไป ของหนูจับอย่างหนึ่ง ของคนก็จับอย่างหนึ่งไม่เหมือนกัน ตัวไวรัสเองก็จะต้องมีวิธีในการอยู่ร่วมกับโฮสต์ได้
วิธีหนึ่งคือ เปลี่ยนตำแหน่งที่ APOBEC ของโฮสต์จะจับไปเป็นตัวอื่นเพื่อหนีการตรวจจับของเอนไซม์ดังกล่าว ซึ่งเป็นกลไกการเปลี่ยนแปลงตัวเองทำให้เกิดวิวัฒนาการของไวรัสนั้น ๆ ให้ดำรงอยู่กับโฮสต์ได้ ปกติการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวใช้เวลานานพอสมควร
ประเด็นที่น่าสนใจคือ GA และ TC ที่ MPXV-2022 มีการเปลี่ยนแปลงถึง 40 ตำแหน่งนี้ เป็นตำแหน่งที่ APOBEC ของคนใช้ในการตรวจจับ เพื่อทำการจัดการไวรัสตัวนั้น การที่ MPXV-2022 เปลี่ยนตำแหน่งดังกล่าวแบบจำเพาะเจาะจงแบบนี้ อาจเป็นกลไกที่ไวรัสพยายามหนีการจับของเอนไซม์ของคนเพื่อความอยู่รอดในโฮสต์ใหม่
ทำให้นักวิจัยหลายท่านตั้งสมมติฐานว่า อาจเป็นไปได้ว่า MPXV-2022 วนเวียนอยู่ในประชากรมนุษย์มาเป็นเวลานานพอสมควรทีเดียว ไวรัสอาจมีปรับเปลี่ยนโฮสต์จากสัตว์ตัวกลางเป็นคน ซึ่งทำให้การแพร่กระจายเกิดจากคนสู่คนได้ง่ายขึ้น
อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่า เป็นสมมติฐานที่มีการวิเคราะห์มาจากข้อมูลลำดับพันธุกรรมของไวรัส ยังไม่มีข้อมูลการแยกไวรัสออกมาเปรียบเทียบคุณสมบัติการเพิ่มจำนวนในเซลล์คนเปรียบเทียบกับสายพันธุ์เก่า ว่าต่างกันมากน้อยอย่างไร ซึ่งเชื่อว่าคงมีให้วิเคราะห์กันต่อในไม่ช้า
วิเคราะห์สถานการณ์ ฝีดาษลิง อาจไม่ใช่โรคเดียว
ที่เปิดตัว โรคในอดีตอื่น ๆ อาจตามมาอีก
อีกหนึ่งความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่วิเคราะห์สถานการณ์ และอาจไม่ใช่ฝีดาษลิงอย่างเดียวที่อาจเปิดตัวมาอีก เพราะอังกฤษตรวจพบไวรัสแปลก ๆ ในคนแบบที่ไม่ค่อยเห็นในอดีตทั้ง Crimean-Congo hemorrhagic fever (CCHF) (โรคไข้เลือดออกไครเมียนคองโก) และ Lassa fever (ไข้ลาสซา หรือ ไข้เลือดออกลาสซา)
ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana